ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาทำงานในบริษัทต่างชาติที่ขอรับการสนับสนุนการลงทุนจาก BOI อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มักเจอปัญหาในการขอวีซ่า รวมถึงการขอ work permit หรือใบอนุญาตทำงาน ที่มีขั้นตอนยิบย่อยจำนวนมาก ส่งผลให้ทั้งตัวพนักงานและบริษัทเสียเวลาที่มีค่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เพียงแค่พนักงานของคุณขอใช้ SMART Visa ก็จะทำให้ทำให้ทุกอย่างที่เคยยากและชวนปวดหัวง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องการพาครอบครัวจากต่างประเทศเข้ามาอาศัยในไทย หรือการที่ต้องไปรายงานตัวทุกๆ 90 วัน และหากคุณอยากรู้ว่า SMART Visa คืออะไร และมีรายละเอียดปลีกย่อยในจุดไหนบ้าง บทความนี้จะบอกทุกสิ่งที่คุณควรรู้
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาทำงานในบริษัทต่างชาติที่ขอรับการสนับสนุนการลงทุนจาก BOI อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มักเจอปัญหาในการขอวีซ่า รวมถึงการขอ work permit หรือใบอนุญาตทำงาน ที่มีขั้นตอนยิบย่อยจำนวนมาก ส่งผลให้ทั้งตัวพนักงานและบริษัทเสียเวลาที่มีค่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม เพียงแค่พนักงานของคุณขอใช้ SMART Visa ก็จะทำให้ทำให้ทุกอย่างที่เคยยากและชวนปวดหัวง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องการพาครอบครัวจากต่างประเทศเข้ามาอาศัยในไทย หรือการที่ต้องไปรายงานตัวทุกๆ 90 วัน และหากคุณอยากรู้ว่า SMART Visa คืออะไร และมีรายละเอียดปลีกย่อยในจุดไหนบ้าง บทความนี้จะบอกทุกสิ่งที่คุณควรรู้
เป้าหมายของ SMART Visa คืออะไร?
SMART Visa คือวีซ่าประเภทหนึ่งที่กำหนดขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนหรือทำงานในประเทศไทย รวมถึงผู้ติดตามที่เป็นสมาชิกในครอบครัว โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญระดับสูงเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เรียกว่า S-Curve
สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ที่ประเทศไทยต้องการดึงดูดนักลงทุนและบุคลากรทักษะสูงชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงาน ได้แก่
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)
- อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive)
- อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)
- อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation and Robotics)
- อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Food for the Future)
- อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)
- อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
- อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
- อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)
- การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน (Environmental Management and Renewable Energy)
- การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution)
- การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Human Resource Development in Science and Technology)
SMART Visa มีกี่ประเภท และผู้ขอต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?
ชาวต่างชาติสามารถขอ SMART Visa เพื่อเข้ามาทำงานที่ไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ได้ทั้งหมด 5 แบบ และมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันดังนี้
1. SMART “T” ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (Talents/Highly-skilled Experts)
ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น นักวิจัย นักพัฒนาแอปพลิเคชัน นักพัฒนาโปรแกรม และวิศวกรสาขาต่างๆ เป็นต้น
คุณสมบัติผู้ขอ SMART Visa “T”
- ได้รับเงินเดือนไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อเดือน หรือเทียบเท่า และไม่รวมค่าตอบแทนอื่น
- ต้องมีสัญญาจ้างหรือสัญญาบริการ อย่างน้อย 1 ปี
- ต้องได้รับการรับรองความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานรัฐ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ยกเว้นกรณีผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ)
- กิจการที่ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจะต้องได้รับการรับรองว่าเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศ โดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
2. SMART “I” นักลงทุน (Investors)
นักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ และอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย
คุณสมบัติผู้ขอ SMART Visa “I”
- ต้องลงทุนโดยตรงในนามบุคคลไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสามารถลงทุนได้มากกว่าหนึ่งกิจการ
- ต้องลงทุนในกิจการนั้นๆ ตลอดระยะเวลาที่ถือ SMART Visa
- กิจการที่จะจัดตั้งขึ้นหรือรับการลงทุน จะต้องได้รับการรับรองว่าเป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการและเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
3. SMART “E” ผู้บริหารระดับสูง (Senior Executives)
ผู้บริหารระดับสูงที่ทำงานในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ และอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย
คุณสมบัติผู้ขอ SMART Visa “E”
- เงินเดือนไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อเดือน หรือเทียบเท่า (ไม่รวมค่าตอบแทนอื่น)
- วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และมีประสบการณ์ทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 10 ปี
- มีสัญญาการจ้างงานกับกิจการในไทยหรือกับกิจการในต่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้ทำงานในประเทศไทย และต้องมีระยะเวลาในสัญญาจ้างงานไม่น้อยกว่า 1 ปี
- ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง
- กิจการที่จะว่าจ้างจะต้องได้รับการรับรองว่าเป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือ หรือการให้บริการและเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
4. SMART “S” ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Entrepreneurs)
ชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของสตาร์ตอัปที่ใช้เทคโนโลยีและอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย เช่น ด้านการเงิน ด้านการบริการ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
คุณสมบัติผู้ขอ SMART Visa “S”
- มีเงินฝากประจำในบัญชีที่มีระยะเวลาเหลืออีกไม่น้อยกว่า 1 ปี และต้องไม่น้อยกว่า 600,000 บาท หรือเทียบเท่า
- กรณีมีคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องมีเงินฝากประจำในบัญชีที่มีระยะเวลาเหลืออีกไม่น้อยกว่า 1 ปี เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 180,000 บาท หรือเทียบเท่าต่อคน
- มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในประเทศไทยทั้งสำหรับผู้ยื่นขอ SMART Visa คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
- ต้องได้รับการรับรองการเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะ (Incubation) หรือโครงการเร่งการเติบโต (Accelerator) หรือโครงการอื่นในลักษณะเดียวกันจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
- กรณีที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะต้องได้รับการร่วมลงทุนจากภาครัฐหรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
- ผู้ขอต้องจัดตั้งกิจการในประเทศไทยภายใน 1 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวในราชอาณาจักรและต้องได้รับการรับรองว่าเป็นธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
5. SMART “O” คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ได้รับสิทธิ (Other)
SMART Visa O ออกให้กับคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ได้รับสิทธิ SMART Visa ทุกประเภท
SMART Visa มอบสิทธิประโยชน์ต่างจาก Non-B Visa อย่างไร?
เหตุผลที่ทำให้ SMART Visa น่าสนใจในสายตานักลงทุนชาวต่างชาติ รวมถึงบริษัทที่เข้ามาจัดตั้งกิจการในไทย มาจากสิทธิประโยชน์ที่มากกว่า Non-B Visa เดิมหลายข้อ โดยเราได้ทำการเปรียบเทียบไว้ดังนี้
การรายงานตัว
SMART Visa รายงานตัวปีละ 1 ครั้ง ที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (OSS)
Non-B Visa รายงานตัวทุก 90 วันที่ ตม. ใกล้กับพื้นที่พักอาศัย
การเดินทางเข้า-ออกไทย
SMART Visa ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
Non-B Visa ต้องทำ Re-entry ก่อนออกนอกประเทศ
ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน
SMART Visa ครั้งละไม่เกิน 4 ปี
Non-B Visa ครั้งละไม่เกิน 1 ปี
ใบอนุญาตทำงาน
SMART Visa ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน
Non-B Visa ต้องขอใบอนุญาตทำงาน
สิทธิการใช้ช่องทางพิเศษในการเข้า-ออกประเทศไทย
SMART Visa ใช้ช่องทางพิเศษได้
Non-B Visa ใช้ช่องทางพิเศษไม่ได้
การติดตามของคู่สมรสและบุตรโดยชอบตามกฎหมาย
SMART Visa ติดตามได้
Non-B Visa ติดตามได้
การขออนุญาตทำงานของคู่สมรส
SMART Visa ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน
Non-B Visa ต้องขอใบอนุญาตทำงาน
เข้าร่วมโปรแกรม Startup Booster กับทรู ดิจิทัล พาร์ค เพื่อช่วยให้ขอ SMART Visa ได้ง่ายขึ้น
ไม่ว่าคุณกำลังค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ SMART Visa เพื่อนำไปบอกต่อให้กับบริษัทหรือคนรู้จักของคุณที่สนใจจะลงทุนในประเทศไทย ทั้งในรูปแบบบริษัทขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย หรือจะเป็น startup ที่เล็งเห็นโอกาสในยุคที่คนไทยกำลังก้าวสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ คุณก็สามารถเข้ามาพูดคุยเพื่อรับคำปรึกษาจากทรู ดิจิทัล พาร์ค ได้เสมอ
ทรู ดิจิทัล พาร์ค พร้อมให้การสนับสนุนนักลงทุนหรือบริษัทที่อยากเข้ามาลงทุนทำธุรกิจด้านดิจิทัลในประเทศไทย ด้วยข้อเสนอพิเศษที่ช่วยให้บริษัทที่เข้าร่วมโปรแกรม Startup Booster กับทรู ดิจิทัล พาร์ค มีโอกาสในการยื่นขอ SMART Visa ได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ BOI ได้กำหนดเอาไว้ ยังจะได้รับสิทธิ์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น 1 ปี รวมสูงสุด 8 ปีอีกด้วย